น้ำท่วม...บทเรียนไม่เคยจบ

น้ำท่วม...บทเรียนไม่เคยจบ

โดย สรศักดิ์ ทับทิมพราย

 

         ฟังเรื่องน้ำท่วมปีนี้หลายคนไม่รู้จริง ที่ว่าท่วมหนักในที่บ้านหมี่หนักมาก หรือน้อยอย่างไร ปี 2523 น้ำท่วมถนนคันคลองชลประทานขาด ตั้งแต่เขตอำเภอบ้านหมี่ มาถึงเขต หนองเต่า และ ท่าแค สมัยนั้นเป็นถนนลูกรังและยังไม่เป็นสำนักชลประทานที่ 10 แต่เป็นสำนักชลประทานที่ 8 การทำงานในสมัยที่ นายชอบ ชลเกตุ เป็นผู้อำนวยการ หรือ ก่อนปี 2519-20 ต่อมาในสมัยที่ นายจำรูญ จินดาสงวน เป็นผู้อำนวยการ สำนักไหนไม่แน่ใจ แต่ในช่วงที่นายจำรูญ นั่งเป็นผู้อำนวยการ ถนนคันคลองขาดตั้งแต่เขตอำเภอบ้านหมี่ถึงท่าแค

         ยังจำได้ว่า สมัยนั้น น้ำท่วมใหญ่ในเขตฝั่งซ้าย หรือฝั่งตะวันออก คลองชัยนาท-ป่าสัก ท่วมหนักมาก สมัยนั้น พ.ต.ท.แกล้ว เดชดำรง เป็นสารวัตรใหญ่ สภ.บ้านหมี่ มีคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจที่น้ำไม่ท่วมเขตตลาดบ้านหมี่ ไม่ท่วมตัวที่ว่าการอำเภอ หรือเขตโรงพัก เทศบาลบ้านหมี่ ถึงกับจะมีการวางระเบิด บนถนนคันคลองชลประทาน สายบ้านหมี่-ลพบุรี ตอนส่งน้ำบ้านกล้วยไปทางหนองเมือง กะระเบิดถนนให้พังน้ำจะได้ไหลเข้าท่วมตัวอำเภอบ้านหมี่ เพราะน้ำท่วมในเขตตำบลหลายตำบลของอำเภอบ้านหมี่ ไม่ได้ท่วมในเขตที่ทำการฯเลย

         หลายผู้อำนวยการของชลประทานที่ 8 น้ำก็ท่วมมาก เหมือนสมัยนายทองหล่อ เจริญรัตน์ เป็นผู้อำนวยการชลประทานที่ 8 ปีนั้นก็น้ำมาก น้ำไหลท่วมถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรีมีการขนย้ายกันจ้าระหวั่น หน้าอำเภอท่าวุ้งท่วม แต่ที่เขตที่ทำการอำเภอบ้านหมี่ ตลาดบ้านหมี่ ไม่เคยท่วม มีแต่ท่วมตำบลรอบนอก น้ำจะมากขนาดไหนก็ไม่เคยเห็นท่วมเขตตลาดบ้านหมี่ เขตที่ว่าการอำเภอบ้านหมี่

         น้ำท่วมแทบทุกปีฝั่งซ้าย ตะวันออกคลองชัยนาท-ป่าสักหลายตำบลของอำเภอบ้านหมี่ ที่ถูกน้ำท่วม มีการแก้ปัญหาทุกปี เพราะเขตที่น้ำป่าหลากมานั้นนอกเขตชลประทาน เป็นเขตของ ชลประทานจังหวัดลพบุรี ท่วมแทบทุกปี ก็น่าจะหาทางแก้ไขได้นานแล้ว แต่ก็ยังมีท่วมให้เห็น ชาวบ้านหลายตำบลของอำเภอบ้านหมี่ เดือดร้อน พอฝนเทลงมา การขุดลอกคลองธรรมชาติเป็นอย่างไรมีการศึกษากันหรือเปล่า ?

         ในปี 2538 มีการเปลี่ยนจากสำนักชลประทานที่ 8 เป็นสำนักชลประทานที่ 10 แล้ว น่าจะเป็นสมัยที่นายสถิร วีระเดชะ เป็นผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 10 น้ำท่วมหลายตำบลในท้องน้ำบางขามไหลล้นไปถึงเขตอำเภอท่าวุ้งหูช้างบางโฉมศรีแตกพัง น้ำทะลักมาตามคลองชีน้ำร้าย ท่วมในตำบลต่างๆของแม่น้ำบางขาม ที่ท่วมมีตำบลบางขาม ตำบลบ้านชี ตำบลมหาสอน ตำบลสนามแจง บางหมู่บ้าน แต่ไม่ท่วมเข้าไปที่อำเภอบ้านหมี่ หรือในเขตตลาดบ้านหมี่ มีชาวบ้านในลุ่มน้ำบางข้ามไปที่ประตูน้ำบางโฉมศรีกันเป็น 100 คนเพื่อไปปิดน้ำ แต่หูช้างประตูน้ำพังน้ำเลยเข้าท่วม

         ในช่วงนี้ประมาณปี 2552-2553 น่าจะเป็นช่วง นายนพพร ชัยพิชิต ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 10 ปี 2553 น้ำท่วมแถวหมู่บ้านสิรัญญาตำบลถนนใหญ่ ตำบลท่าแค เขตอำเภอเมือง มากเอาการน้ำท่วมปีนี้สร้างความเสียหายมาก รถเก๋งรถปิกอัพ จมอยู่ใต้น้ำ หมู่บ้านสิรัญญาที่น้ำเข้าท่วม เป็นน้ำป่าลงจากเขา และการท่วมครั้งนี้คือการแจ้งเตือนจากธรรมชาติ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่สร้างใหม่

         พอมาถึงปี 2554 น้ำท่วมหนักมากเป็นเดือนเพราะประตูน้ำบางโฉมศรีแตก สิงห์บุรีแตก ปีนั้นน้ำไม่มีการระบายเข้าทางประตูน้ำในเขตชัยนาท ทำให้น้ำมากเพราะไม่มีการระบายออกทางคลองอื่นที่จะช่วยลดจำนวนน้ำ น้ำในเจ้าพระยาไหลเข้ามาจากคลองชีน้ำร้าย เข้าท่วมในเขตอำเภอบ้านหมี่แต่ก็ไม่เข้าท่วมในเขตที่ทำการอำเภอ แลตลาดบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง อำเภอเมือง ไหลบ่าไปทางบ้านแพรก ท่วมถนนหนทาง เสียหายมากมาย รวมถึงกรุงเทพฯด้วย ดีเพียงบางจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม

         นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น น้ำที่ท่วมบางพื้นที่แม้ไม่มากนัก แต่ก็น่าจะมีการศึกษาของหน่วยงานหลายๆแห่ง ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งในพื้นที่น่าจะมีการวางแผนก่อนที่จะถึงหน้าน้ำของแต่ละปี ว่าตรงไหนควรจัดการอย่างไร ไม่ใช่ น้ำท่วมแล้วมาแก้ปัญหา มาเอะอะมะเทิ่งตอนน้ำมา น้ำป่ามาแรงเร็ว เคยมาสำรวจคันกั้นน้ำกันหรือไม่ ว่าคงทนถาวรแค่ไหน คนที่นั่งในตำแหน่งใหญ่เล็ก เชื่อแน่ว่ารู้ไม่หมด

         มีเรื่องเล่าเป็นนิทานว่า เป็ดมันรู้เรื่องอะไรบ้างหรือว่ารู้อย่างละนิดอย่างละหน่อย คนเลี้ยงเป็ดไม่บอก ไม่ชี้ให้เป็ดรู้หมดทุกอย่างแน่หวงไว้บ้างแน่ๆ คงให้ไม่หมด