เร่งผันน้ำออกคลองระบายรอบกทม.

 

 

กรมชลฯ ใช้แนวทางบริหารจัดการน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยเร่งผันออกคลองระบายน้ำพื้นที่บริเวณรอบเมืองกรุง

          นายสมเกียรติ​ ประจำ​วงษ์​ อธิบดีกรมชลประทานยืนยันว่า น้ำเหนือที่ระบายมาที่มาถึงลุ่ม​เจ้าพระยา​ตอน​ล่าง​นั้น​ กรมชลประทานไม่มีนโยบายจะปล่อยเข้ากรุงเทพฯ และได้บริหารจัดการเพื่อป้องกัน​น้ำท่วม​กรุงเทพ​ฯ

 

นายสมเกียรติ​ ประจำ​วงษ์

         โดยน้ำเหนือที่ไหลมาตามลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา เมื่อถึงปทุมธานี ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ จะผันไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่รังสิต จ.ปทุมธานี ผ่านประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำที่มีศักยภาพในการสูบสูงจำนวนมาก

         ขณะที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่แบ่งเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท ผ่านลพบุรี มายังเขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จะผันเข้าคลองระพีพัฒน์ให้ไหลสู่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา แล้วไหลแบ่งระบายตามคลองชายทะเลจากนั้นจะสูบระบายลงอ่าวไทย

 

ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์

          สำหรับน้ำที่ท่วมขังในกรุงเทพฯ เมื่อไหลลงคลองต่างๆ ไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว กรมชลฯจะใช้ประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร ซึ่งเสมือนเป็นทางด่วนน้ำออกทะเลโดยตรงที่ อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ

 

คลองระพีพัฒน์

          นอกจากนี้จะแบ่งระบายไปผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง​ จ.สมุทรปราการ ​ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่แคบและคดเคี้ยวเพื่อร่นระยะทางและเวลาในการระบายน้ำ โดยกรมชลฯได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพื่อให้ระบายน้ำได้มากขึ้นตามจังหวะน้ำขึ้น-น้ำลงของทะเล