สัตว์ป่าฯ...ทุกข์ทรมานจากการเซลฟี่!

 

 

 

         มีรายงานเปิดโปงความทารุณโหดร้ายในการใช้สัตว์ป่าถ่ายเซลฟี่กับนักท่องเที่ยวในละตินอเมริกา

           องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เปิดเผยว่า ความชื่นชอบในการถ่ายเซลฟี่กำลังเปลี่ยนวิถีชีวิตของสัตว์ป่าไปตลอดกาล-แนวโน้มที่แพร่หลายในการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดียนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้การทารุณกรรมสัตว์ป่าในแถบอเมซอนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

          จากการสำรวจเพียง 2 เมืองหลักในแถบอเมซอน คือเมือง Manaus ในประเทศบราซิล และเมือง Puerto Alegria ในประเทศเปรู พบว่ามีการลักลอบจับสัตว์ออกจากป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำสัตว์ป่าเหล่านั้นมาใช้งานธุรกิจบันเทิงอย่างไร้ความรับผิดชอบ สร้างความทุกข์ทรมาน และอาการบาดเจ็บแก่พวกมัน ซึ่งนักท่องเที่ยวมีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากการเซลฟี่กับพวกมัน

 

สล็อธ

          การสืบสวนนี้ทำให้พบหลักฐานของการทำทารุณกรรมสัตว์ป่าทั้งในที่สาธารณะและเบื้องหลัง ซึ่งรวมถึง :

          -สล็อธถูกล่าออกจากป่า ถูกมัดด้วยเชือกกับต้นไม้ และมีชีวิตอยู่รอดไม่ถึง 6 เดือน

          -นกทูแคนมีแผลขนาดใหญ่ที่เท้า

          -งูยักษ์อนาคอนดาเขียวได้รับบาดเจ็บและขาดน้ำ

          -จระเข้เคแมนจะถูกหนังยางรัดรอบขากรรไกร

          -แมวป่าโอซีล็อต (แมวป่าชนิดหนึ่ง) ถูกขังในกรงแคบๆ

          -พะยูนถูกเลี้ยงไว้ในบ่อน้ำเล็กๆในสวนหน้าโรงแรมท้องถิ่น

          -ตัวกินมดขนาดใหญ่ถูกทำร้ายโดยเจ้าของมัน

 

 

          คุณสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร ผู้จัดการฝ่ายโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า ความคลั่งไคล้ในการถ่ายรูปเซลฟี่คู่สัตว์ป่าเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและกลายเป็นที่นิยม เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย และการดูแลอย่างย่ำแย่ที่สัตว์ป่าต้องเผชิญเพื่อมาอยู่ในภาพถ่ายที่ระลึกสุดพิเศษนี้

         “เบื้องหลังการท่องเที่ยวเหล่านี้ สัตว์ป่าต้องถูกพรากจากแม่ของพวกมันตั้งแต่ยังเล็ก และเก็บซ่อนไว้ในที่สกปรก คับแคบ ปล่อยให้หิวโหยซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง”

          ผู้เชี่ยวชาญทำวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มของโลกในการถ่ายรูปเซลฟี่คู่สัตว์ป่าเพื่อลงสื่อโซเชียลแสดงให้เห็นว่า จากปี 2014 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนรูปถ่ายเซลฟี่คู่สัตว์ป่าอยู่บนอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นถึง 292% มากกว่า 1 ใน 4 ของรูปถ่ายเซลฟี่แสดงให้เห็นถึงรูปเซลฟี่ที่ “แย่” เช่น มีนักท่องเที่ยวกำลังกอด อุ้ม หรือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสัตว์ป่า

 

 

          Dr.Neil D’Cruze ที่ปรึกษาด้านสัตว์ป่าระดับโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าวิตกเป็นอย่างมากที่สัตว์ป่าถูกล่าออกมาจากป่า และใช้เพื่อเป็นส่วนประกอบสำหรับถ่ายรูปลงสื่อโซเชียล ในความเป็นจริง สัตว์เหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากทั้งเบื้องหน้าและหลังกล้องถ่ายรูป

          “ความต้องการถ่ายรูปเซลฟี่คู่สัตว์ป่าที่อันตรายเหล่านี้กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆไม่เพียงสร้างความกังวลอย่างมากต่อสวัสดิภาพของสัตว์เหล่านี้ แต่ยังรวมถึงด้านการอนุรักษ์สายพันธุ์อีกด้วย การสำรวจออนไลน์ของเราในแถบละตินอเมริกาพบว่า สัตว์ที่ถูกจับมาถึง 20% เป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอีกกว่า 60% เป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายสากล”

          องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งได้ทำ “วิธีถ่ายรูปเซลฟี่ Wildlife Selfie Code” เพื่อให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้การถ่ายรูปคู่สัตว์ป่าโดยไม่กระตุ้นให้เกิดความนิยมในอุตสาหกรรมความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า ...มาร่วมกันยุติอุตสาหกรรมที่ทารุณโหดร้ายเหล่านี้โดยลงชื่อสนับสนุน The Wildlife Selfie Code และให้คำมั่นว่าจะช่วยรักษาสัตว์ป่าให้คงอยู่ในป่า ที่ที่พวกมันสมควรอยู่ 

 

 

         หมายเหตุ - แถบละตินอเมริกา มีสัตว์ที่ระบุสายพันธุ์และต้องการการคุ้มครองตามกฎหมายสากลจากอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES) โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ(IUCN) ถึง 61% และ 21% ถูกจัดเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

          ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกถึง 10% พบได้ในแถบอเมซอน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของพืชกว่า 18,000 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 400 สายพันธุ์ และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 200 สายพันธุ์

          โดยการท่องเที่ยวภูมิภาคอเมซอน อย่างในบราซิล 94% สามารถมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสัตว์ป่าเพื่อถ่ายภาพได้ ซึ่งมัคคุเทศก์จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมประเภทนี้ถึง 77% ของการท่องเที่ยวทั้งหมด