"สยามคูโบต้า" ยกระดับศักยภาพชาวไร่อ้อย ด้วย KAS เกษตรครบวงจร (ชมคลิป)

 

 

         บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ กลุ่มวังขนาย และบริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด ในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อย ปลูกอ้อยด้วย KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร นำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกทำการเกษตรใน ทุกขั้นตอน พร้อมให้คำปรึกษา สนับสนุนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เพื่อยกระดับศักยภาพชาว ไร่อ้อย ให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการบริหารปัจจัยการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

         นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรครบวงจร หรือ KAS มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรรมของประเทศ โดยที่ผ่านมา สยามคูโบต้า ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ขับเคลื่อนการทำเกษตรครบวงจรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบปราณีตมาโดยตลอด เช่น โครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่

         สำหรับในส่วนของภาคเอกชน สยามคูโบต้าได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิก ในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดการทำเกษตรครบวงจรให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า ผ่านโครงการ AD Solutions Provider เพื่อให้ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายมีความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบปราณีต เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าวต่อไปยังเกษตรกรในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถแนะนำการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการ และสภาพพื้นที่การใช้งานของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ความสามารถในการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

         

           นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคได้มาตรฐานอีกด้วย

         "ในอนาคต สยามคูโบต้ายังคงเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชอีกหลากหลายชนิด และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป"

         ขณะที่ คุณสุนิษา พรรักษมณี กรรมการบริหาร บริษัท คูโบต้า มหาสารคาม จำกัด เผยว่า ได้นำพนักงานเข้าร่วมอบรมโครงการ AD Solutions Provider แล้วนำองค์ความรู้ KAS ไปใช้พัฒนาการปลูกอ้อย ร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย ในปี 2558 - 2559 ณ บ้านโคกล่าม อ.บรบือ จ.มหาสารคาม จำนวน 8 ไร่ โดยมีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรม คือ ได้ผลผลิตจำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าตัดอ้อยและค่าขนส่ง เนื่องจากขายเป็นอ้อยพันธุ์)

 

         ด้าน คุณธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า วังขนายได้เข้ามาร่วมมือกับคูโบต้า จะช่วยส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยแบบออร์แกนิคมากขึ้น และการปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ก็สามารถช่วยให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร อยากให้เกษตรหันมาปลูกอ้อยออร์แกนิคมากขึ้น เพราะไม่ยากอย่างที่คิด

         "มาตรฐานโรงงานในการรับอ้อย เราต้องการรับอ้อยสด การมีเครื่องจักรเข้าไปช่วย จะช่วยตัดการใช้สารเคมีในตัวไร่อ้อยไปได้เยอะมาก จากเดิมที่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่ปัจจุบันด้วยระบบ KAS ทำให้เราสามารถใช้รถไถ่ขนาดเล็กเข้าไปกำจัดวัชพืชได้ซึ่งเป็นตอบโจทย์ตามที่กลุ่มวังขนายต้องการ เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติที่วังขนายใช้ในการเก็บเกี่ยวและหีบอ้อยออแกนิคเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิค"

         ส่วน นายกริชอารักษ์ รักษาพล เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย อ.บรบือ จ.มหาสารคาม บอกว่า อดีตเคยทำงานที่กรุงเทพ เมื่อกลับบ้านมาขอแบ่งที่ดินจากพ่อมาปลูกอ้อย ทำได้ 2-3 ปี ก็เห็นโครงการ KAS ของคูโบต้า จึงตัดสินใจเข้าร่วม แม้การใช้เครื่องจักรต้องใช้ต้นทุนมากกว่าแรงงานคน แต่ผลผลิตก็มากขึ้นเป็นเท่าตัว และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากกว่า ทุกวันนี้มีไร่อ้อยทั้งหมด 60 ไร่ ปลูกด้วยวิธี KAS ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ถึง 26 ตัน/ไร่ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก