ข้าวเพื่อสุขภาพ-ต้านเบาหวาน

 

 

         กรมการข้าว แนะข้าวพันธุ์ กข.43 เป็นข้าวเพื่อสุขภาพ น้ำตาลต่ำ เหมาะผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เตรียมออกสู่ตลาดมุ่งเป้าคนรักสุขภาพ 

         นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจัดทำโครงการจัดทำแปลงเรียนรู้การทำนาคุณภาพแบบประณีตและประหยัดต้นทุน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชาวนาได้นำวิธีไปปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของตนเองในการแก้ปัญหาต่างๆ จึงได้เลือกพื้นที่ ต.ข้าวงาม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ส่วนใหญ่ชาวนามีการปลูกข้าวเกินปีละ 2 ครั้ง ปลูกต่อเนื่องไม่มีการพักดิน ทำให้เกิดดินเสื่อมโทรมและมีปัญหาวัชพืชจำนวนมาก เมื่อนำผลผลิตไปจำหน่ายจึงได้ราคาต่ำเพราะมีสิ่งเจือปนมาก 

 

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร

         กรมการข้าวจึงคัดเลือกพื้นที่จำนวน 15 ไร่ จัดทำเป็นแปลงเรียนรู้การทำนาคุณภาพแบบประณีตและประหยัดต้นทุน โดยเลือกปลูกข้าวพันธุ์ กข.43 ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองของกรมการข้าวและมีงานวิจัยรองรับว่าเป็นข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เป็นข้าวเพื่อสุขภาพมาทดลองปลูกในแปลงเรียนรู้แห่งนี้ และได้ถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

         นายสุวัฒน์ เจียระคงมั่น รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ ข้าวพันธุ์ กข.43 นี้ มีลักษณะเด่นที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น 95 วัน ปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทานดี ข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ต้านทานปานกลางต่อโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พื้นที่แนะนำปลูกควรเป็นพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และเกษตรกรมีช่วงเวลาในการทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่นๆ หรือพื้นที่ที่มีปัญหาข้าววัชพืชระบาด

         "ข้าวพันธุ์ กข43 เป็นข้าวขาวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน กรมการข้าวได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และได้นำไปให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานรับประทาน พบว่าสามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรับประทานข้าวนุ่มได้มากขึ้นอีกด้วย"

 

 

         รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวอีกว่า สำหรับแปลงเรียนรู้ จ.พระนครศรีอยุธยานี้ กรมการข้าวได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกด้วยวิธีประณีต เกษตรกรเจ้าของแปลงสามารถลดต้นทุนจากเดิมที่ 4,000-5,000 ลดเหลือ 3,000 กว่าบาท ซึ่งเกิดจากการปลูกข้าวโดยใช้เครื่องหยอดลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์จาก 30 กก.ต่อไร่ เหลือ 10 กก.ต่อไร่ สามารถลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้ 300-400 บาท ส่วนผลผลิตค่าเฉลี่ย 700-800 กก.ต่อไร่ ทั้งนี้ คาดว่าราคาขายข้าวเปลือกน่าจะอยู่ที่ตันละ 10,000 บาท แปรรูปเป็นข้าวสารเฉลี่ยอยู่ที่ 50-70 บาทต่อกก. อนาคตเชื่อว่าข้าวพันธุ์ กข43 จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่รักสุขภาพมากขึ้น

 

 

         นายวินัย เกิดมั่งมี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์ กข43 บอกว่า ดีใจมากที่เห็นข้าวมีผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ตนเองได้เข้าร่วมปลูกข้าวพันธุ์นี้บนแปลงนาสาธิตเป็นครั้งแรก ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เยอะ จากปกติที่เคยทำนามาต้องใช้ทุนสูงมาโดยตลอดโดยเฉพาะปุ๋ยใช้ไร่ละ 6-7 กิโลกรัมต่อไร่ จากที่เคยใส่ประมาณ 25 กิโลกรัมต่อไร่ และหลังจากนี้จะหันมาปลูกข้าวพันธุ์นี้มากขึ้น

          สำหรับชาวนาที่ต้องการปลูกข้าว กข.43 ทางกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยากให้มีการรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ มีคณะกรรมการบริหารจัดการกลุ่ม มีพื้นที่ในเขตภาคกลางยิ่งดีเนื่องจากพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและน่าจะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะข้าวพันธุ์นี้จะไม่ส่งเสริมแบบทั่วไป จะเน้นตลาดเฉพาะ ผู้สนใจต้องลงทะเบียนยื่นความประสงค์กับกรมการข้าวเท่านั้น

 

นายสุวัฒน์ เจียระคงมั่น 

         ส่วนผู้ประกอบการหรือโรงสีข้าวที่ต้องการนำข้าว กข.43 ไปแปรรูป สามารถติดต่อได้ที่กรมการข้าวเช่นกัน เพื่อกรมการข้าวจะได้เชื่อมโยงการตลาดจับคู่ธุรกิจให้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ ที่สำคัญต้องมีการตรวจรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานแปลง GAP โรงสี GMP เพื่อให้ได้ข้าวสารที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ Q และมี QR code กำกับ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพตลอดกระบวนการผลิตและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย

         สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โทรศัพท์ 02-940-6927 ในวันเวลา ราชการ