เร่งขยายฐานผลิต”อ้อยอินทรีย์”
  • 28 กันยายน 2017 at 18:15
  • 2111
  • 0

 

 

 

กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 กว่า 1 ล้านไร่ พร้อมจับมือกลุ่มวังขนายขยายฐานการผลิตอ้อยอินทรีย์ เพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิก 40,000 ตันต่อปี

         นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 กว่า 1 ล้านไร่

          โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ซึ่งปัจจุบันยังมีน้อย ในขณะที่โรงงานน้ำตาลมีความต้องการอ้อยอินทรีย์เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกป้อนตลาดต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงได้ร่วมกับกลุ่มวังขนาย จัดทำโครงการความร่วมมือผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย

 

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ

          นายสุวิทย์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัยครั้งนี้ กรมและกลุ่มวังขนาย ร่วมมือกันจัดทำ 3 กิจกรรม คือ

          1.การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ เพื่อขยายพื้นที่ปลูกอ้อยที่งดการใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ใช้พันธุ์อ้อยจากการตัดต่อพันธุกรรม ฟื้นฟู อนุรักษ์ สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืน

         2.การผลิตอ้อยและน้ำตาลปลอดภัย ใช้มาตรฐานปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อควบคุมการใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นในการปลูกอ้อย เพื่อผลิตน้ำตาลที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดมลพิษจากการเผาอ้อย โดยรณรงค์ ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด

 

 

          3.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยในแปลงอ้อย โดยให้เกษตรกรสามารถผสมปุ๋ยใส่แปลงปลูกอ้อยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินได้ เป็นการใช้ปุ๋ยอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเสื่อมสภาพของดิน และลดต้นทุนการผลิตอ้อยโรงงาน

          นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มได้จัดทำโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์มานานกว่า 10 ปี และผลิตน้ำตาลออร์แกนิกจำหน่ายทั้งนและต่างประเทศ โดยจำหน่ายครั้งแรกปี 2554 ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานของประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC 483/2007),มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (USDA-NOP),มาตรฐานประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard; JAS) และมาตรฐานประเทศเกาหลี (Korean Organic)

          โดยสามารถผลิตน้ำตาลออร์แกนิกได้ 15,000 ตัน จำหน่ายในประเทศ 75% และอีก 25 % จำหน่ายในประเทศแถบเอเชียและยุโรป ซึ่งกลุ่มตั้งเป้าใน 3-5 ปีนี้ จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่ม เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิก ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

 

 

          นายบุญญฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มมีความพร้อมในการพัฒนาการผลิตอ้อยอินทรีย์และอ้อยสะอาดปลอดภัย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลติดตาม ตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นโดยใช้ระบบควบคุมภายใน (CIS : Internal Control System) ก่อนที่จะตัดอ้อยเข้าหีบเพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิก พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ฟิลเตอร์เค้ก สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานอ้อยอินทรีย์ จะเพิ่มค่าอ้อย 100 บาท/ตัน และกลุ่มที่อยู่ระยะปรับเปลี่ยน เพิ่มค่าอ้อย 50 บาท/ตัน

          อีกทั้ง กลุ่มวังขนาย ยังเก็บตัวอย่างดินจากแปลงปลูกอ้อยของเกษตรชาวไร่อ้อยมากกว่า 20,000 ตัวอย่าง เพื่อส่งให้ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำการใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ตัวอย่างดิน เป็นการใช้ปุ๋ยถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด โดยทางกรมวิชาการเกษตรละกลุ่มวังขนายจะนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นการใช้ปุ๋ยอ้อยร่วมกันต่อไป